บทสรุปและเหตุการณ์สืบเนื่อง ของ ความขัดแย้งในกัมพูชา พ.ศ. 2354

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2355 ทางกรุงเทพทราบว่า เฮี้ยวคังไท้เห่า (孝康太后, Hiếu Khang Thái hậu) หรือดึกไทเฮาพระชนนีของพระเจ้าเวียดนามยาล็องสิ้นพระชนม์ จึงแต่งคณะทูตไปสักการะคำนับพระศพของดึกไทเฮา มีพระยาราชเสนาเป็นราชทูต เมื่อเจ้าพระยายมราช (น้อย) นำเจ้าชายเขมรทั้งสามกลับมาแจ้งข้อราชการ จึงมีพระราชโองการให้อัญเชิญพระราชสาสน์ออกไปอีก[6]ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2355 ให้พระยาราชเสนาถวายแก่พระเจ้ายาล็อง ชี้แจงเหตุการณ์ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงนักองค์จันทร์ จนได้รับแต่งตั้งเป็นกษัตริย์กัมพูชา แต่กลับบิดพลิ้วไม่มาร่วมพระราชพิธี ประพฤติแข็งข้อต่อกรุงเทพหลายประการ และยังหลบหนีไปเมืองไซ่ง่อนเสียอีก ฝ่ายพระเจ้ายาล็องมีราชสาสน์ตอบกลับมาว่า กองทัพสยามยกทัพลงไปเบียดเบียนชาวเขมรได้รับความเดือดร้อน แม้แต่วังของนักองค์จันทร์ก็เผาทำลายลงเสีย นักองค์สงวนเป็นต้นเหตุของความวุ่นวาย "เป็นข้าก็ไม่ตรงต่อเจ้า เป็นน้องไม่อดออมต่อพี่"[6] โทษของนักองค์สงวนมากกว่าผู้อื่น แต่หากนักองค์สงวนยอมขอโทษก็จะหายโทษ "เนื้อกับกระดูกจะได้ร่วมกัน" ฝ่ายกรุงเทพจึงมีความเข้าใจว่าฝ่ายญวนนั้นให้การสนับสนุนแก่นักองค์จันทร์นการต่อต้านสยาม แต่หากจะยกทัพไปทำการสงครามกับเวียดนามตอนนี้ไม่เหมาะสม เพราะมีฤดูน้ำหลากฝ่ายเวียดนามได้เปรียบทางเรือ อีกทั้งเกรงว่าจะเกิดศึกสองด้านกับพม่าและเวียดนาม ควรรักษาทางไมตรีกับญวนไว้ก่อน

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2356 จึงโปรดฯให้พระยามหาอำมาตย์เป็นราชทูต พระยาราชโยธาเป็นอุปทูต ไปยังเมืองเวียดนามอัญเชิญพระราชสาสน์ไปถวายพระเจ้ายาล็อง พระเจ้ายาล็องตรัสแก่ทูตว่า จะให้นักองค์จันทร์กลับจากไซ่ง่อนไปคืนครองเมืองกัมพูชาตามเดิม ความผิดของนักองค์จันทร์ในครั้งนี้ขอพระราชทานงดเว้นสักครั้งหนึ่ง ในเดือนเมษายน พระเจ้ายาล็องมีพระราชโองการให้"องต๋ากุน"เลวันเสวียต (Lê Văn Duyệt, 黎文悅) และ"องเหียบกิน"โงเญินติ่ญ (Ngô Nhân Tịnh, 吳仁靜) นำกองกำลังญวนจำนวนทั้งสิ้น 13,000 คน แห่นำพระอุไทยราชานักองค์จันทร์กลับคืนปกครองกัมพูชาตามเดิม เลวันเสวียตนำแห่นักองค์จันทร์ออกจากเมืองไซ่ง่อนมากลับคืนเมืองพนมเปญในเดือนพฤษภาคม โดยมีพระยามหาอำมาตย์และพระยาราชโยธาขุนนางราชทูตสยามร่วมเดินทางส่งนักองค์จันทร์เป็นสักขีพยานในครั้งนี้ด้วย พระยายมราช (ควร) และพระวิเศษสุนทร (รศ) ขุนนางกัมพูชาฝ่ายไทยที่รอคอยอยู่ที่เมืองอุดงเข้าเฝ้าพระอุไทยราชา หลังจากส่งนักองค์จันทร์กลับเมืองกัมพูชาเสร็จสิ้นแล้ว ขุนนางฝ่ายไทยได้แก่ พระยามหาอำมาตย์ พระยาราชโยธา พระยายมราช (ควร) และพระวิเศษสุนทร (รศ) จึงเดินทางกลับเมืองพระตะบอง

สมเด็จพระอุไทยราชานักองค์จันทร์ทรงปูนบำเหน็จขุนนางที่ได้ช่วยเหลือพระองค์มา พระยาบวรนายก (สวด) ได้เลื่อนเป็นพระยาจักรี เจ้าพระพุฒ (ตวนผอ) ขุนนางแขกจามได้เลื่อนเป็นพระยายมราช เมื่อนักองค์จันทร์เสด็จกลับมาถึงเมืองพนมเปญ พบว่าเมืองอุดงบันทายเพชรและเมืองพนมเปญถูกฝ่ายสยามเผาทำลายลงจนสิ้นแล้ว องต๋ากุนเลวันเสวียตให้สร้างป้อมเมืองใหม่ให้แก่นักองค์จันทร์ นักองค์จันทร์แจ้งว่าเมืองอุดงนั้นเป็นที่สูงไม่ต้องการประทับอยู่ที่เมืองอุดง[6] แต่ประสงค์จะประทับที่พนมเปญเนื่องจากเป็นที่ลุ่มต่ำหากสยามบุกรุกรานมาทัพเรือเวียดนามจะสามารถเข้าช่วยเหลือได้สะดวก เลวันเสวียตจึงสร้างป้อมเมืองใหม่ขึ้นที่พนมเปญชื่อว่าเมือง”บันทายแก้ว”ให้แก่นักองค์จันทร์ และสร้างป้อมเมืองละว้าเอม (Lvea Aem) ไว้สำหรับทหารญวนไว้ประจำการ รวมทั้งสร้างศาลบูชาพระเจ้ายาล็องไว้ที่แหลมจะโรยจังวา (Chroy Changvar) ตรงข้ามเมืองพนมเปญ พระอุไทยราชาและบรรดาขุนนางกัมพูชา แต่งกายอย่างญวน สวมเสื้อญวนและโพกศีรษะญวน[1] ขึ้นสักการบูชาพระเจ้ายาล็องที่ศาลจะโรยจังวานั้นทุกวันขึ้นหนึ่งค่ำและขึ้นสิบห้าค่ำเดือนละสองครั้ง[6] เลวันเสวียตให้องเชืองเกิญเทือง เหงียนวันถว่าย เป็น"เบาฮอ"[1] (bảo hộ) หรือองโปโห[6] เป็นข้าหลวงของญวนในกัมพูชา เลวันเสวียตให้เบาฮอเหงียนวันถว่ายนำกำลังญวน 1,500 คน อยู่รักษานักองค์จันทร์ที่เมืองพนมเปญ ส่วนองต๋ากุนเดินทางกลับเมืองเว้

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2357 พระเจ้าเวียดนามยาล็องมีพระราชโองการให้"องเหียบกิน" นำเสื้อหมวกกางเกงและเครื่องยศญวนพระราชทานมามอบให้แก่นักองค์จันทร์ที่พนมเปญบันทายแก้ว นักองค์จันทร์ให้เรือประโคมพิณพาทย์ไปรับองเหียบกินมาที่จะโรยจังวา พระอุไทยราชาทรงเครื่องยศญวนแล้วขึ้นถวายบังคมรับพระบารมีพระเจ้าเวียดนามที่ศาลจะโรยจังวา บรรดาขุนนางกัมพูชาล้วนแต่งตัวโพกศีรษะญวนทั้งสิ้น[1]

แม้ว่าในทางพิธีการราชสำนักกัมพูชาจะยังคงส่งเครื่องบรรณาการมาถวายที่กรุงเทพฯทุกปีดังเดิมแต่ก็ส่งเครื่องบรรณาการไปถวายที่เมืองเว้ทุกสามปีเช่นกัน ในทางปฏิบัติหลังจากเหตุการณ์ความวุ่นวายในกัมพูชาพ.ศ. 2354 แล้ว กัมพูชาจึงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเวียดนาม

เขมรตีเมืองพระตะบอง พ.ศ. 2358

ภาพของเจืองเติ๊นบิ๋ว (Trương Tấn Bửu) รองข้าหลวงของญวนประจำกัมพูชา จากหนังสือของครอว์เฟิร์ด

ในพ.ศ. 2358 พระอุไทยราชานักองค์จันทร์ให้พระยายมราช (ตวนผอ) และพระยาธรรมเดโช (มัน) ยกทัพไปปราบพระยาเดโช (เม็ง) ที่เมืองกำปงสวาย พระยาเดโช (เม็ง) หลบหนีไปอยู่เมืองโขง พระอุไทยราชาทรงให้ตวนหมัดพี่ชายของตวนผอเป็นพระยาเดโชเจ้าเมืองกำปงสวายคนใหม่[1]

พระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) เจ้าเมืองพระตะบอง ถึงแก่กรรมเมื่อเดือนตุลาคมพ.ศ. 2358 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯทรงแต่งตั้งพระยาวิเศษสุนทร (รศ) ซึ่งเป็นบุตรชายของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน)[5] ขึ้นเป็นพระยาอภัยภูเบศร์เจ้าเมืองพระตะบองคนใหม่

สมเด็จพระอุไทยราชาทรงปรึกษากับองเบาฮอ เหงียนวันถว่าย ข้าหลวงญวน ว่าเมืองพระตะบองตกไปขึ้นแก่สยาม เมืองพระตะบองนั้นสยามให้เป็นที่เตรียมเสบียงและไพร่พลในการยกทัพเข้าโจมตีกัมพูชาทุกครั้ง สมควรที่จะกำจัดอิทธิพลของสยามไปให้พ้นจากพระตะบอง[6] เหงียนวันถว่ายเห็นด้วย ให้พระอุไทยราชานักองค์จันทร์หาเหตุยกทัพเข้าไปในแขวงเมืองพระตะบองเพื่อเก็บน้ำนมศิลาและมูลค้างคาวตามธรรมเนียม ถ้าฝ่ายสยามไม่สู้ก็ให้ยึดเมืองพระตะบองเลย ถ้าฝ่ายสยามสู้ก็ให้เก็บน้ำนมศิลามูลค้างคาวมาอย่างเดียว แต่การนี้ฝ่ายญวนจะไม่ข้องเกี่ยวให้ฝ่ายกัมพูชาจัดการเอง ในเวลานั้นเองพระยาเดโช (ตวนหมัด) เข้ามาทูลว่ามีทัพสยามยกมาจากนครราชสีมา[1] นักองค์จันทร์จึงมีพระราชโองการให้สมเด็จเจ้าพระยา (ติ) เป็นแม่ทัพ พระยาสังคโลก (นอง) เป็นทัพหน้า ให้พระยาโยธาสงคราม (มัน) พระยาเอกราช (แทน) ตั้งทัพอยู่ที่เมืองโพธิสัตว์ ให้กองกำลังกัมพูชาอีกกองหนึ่งไปตั้งรักษาไว้ที่เกาะกำยาน สมเด็จเจ้าพระยา (ติ) ยกทัพไปตั้งอยู่ที่บ้านโอระแวง[6]

ฝ่ายพระยาอภัยภูเบศร์ และพระยารามกำแหง เมื่อทราบว่าฝ่ายกัมพูชายกทัพมาเมืองพระตะบอง จึงยกทัพออกไปห้ามแต่สมเด็จเจ้าพระยา (ติ) ไม่ฟัง แจ้งว่ามาเก็บน้ำนมศิลาและมูลค้างคาวตามธรรมเนียม แล้วฝ่ายกัมพูชาก็ยกทัพเข้ามาตั้งที่หนองจอก สมเด็จเจ้าพระยาตั้งทัพที่บ้านอันลงกูบ พระยาเอกราช (แทน) ตั้งค่ายที่เขาบานน ฝ่ายกัมพูชายกทัพเข้ามาทางบ้านสลึงปิดทางเมืองโตนดอีกทางหนึ่ง พระยาอภัยภูเบศร์ส่งพระยาวงษาธิราชออกไปสู้รบกับพระยาเอกราช (แทน) ที่เขาบานน พระยาเอกราช (แทน) พ่ายแพ้ พระยาสังคโลก (นอง) ถูกจับกุมไปกรุงเทพ[5] สมเด็จเจ้าพระยาจึงถอยทัพกัมพูชากลับไป ฝ่ายสยามกวาดต้อนชาวกัมพูชาจากเกาะกำยานไปไว้ที่พระตะบอง นักองค์จันทร์จึงให้พระยายมราช (ตวนผอ) ไปตั้งรับที่เปียมพระสทึง

พระยาอภัยภูเบศร์และพระยารามกำแหงมีใบบอกเข้ามากราบทูลเหตุการณ์เมืองพระตะบองแก่กรุงเทพ ทางกรุงเทพให้พระยารองเมืองฯและพระพรหมบริรักษ์ออกมาสืบความได้ความจริง จึงมีพระราชโองการให้เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์[6] นำทัพเกณฑ์กรุงเทพและนครราชสีมาไปตั้งรอรับที่เมืองพระตะบอง และมีศุภอักษรไปถึงพระเจ้ายาล็องถึงเหตุที่ข้าหลวงญวนร่วมกับขุนนางกัมพูชามารบกวนเมืองพระตะบอง

ฝ่ายเวียดนามพระเจ้ายาล็องมีพระราชโองการให้ขุนนางญวนจากไซ่ง่อนเดินทางมาสอบสวนพระยาเอกราชในเดือนกรกฏาคม[1] ได้ความแล้วพระเจ้าเวียดนามจึงมีพระราชโองการให้จับกุมตัวสมเด็จเจ้าพระยา (ติ) ฝ่ายพระอุไทยราชานักองค์จันทร์จึงมีพระราชโองการให้พระยายมราช (ตวนผอ) พระยาจักรี (สวด) และพระยาราชเดชะ (หลง) ยกทัพไปจับกุมตัวสมเด็จเจ้าพระยาแล้วส่งให้แก่ญวนที่ไซ่ง่อน พระเจ้าเวียดนามจึงทรงมีศุภอักษรเข้ามาที่กรุงเทพว่า ได้สอบสวนสมเด็จเจ้าพระยาแล้ว พบว่าฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาได้ยกทัพเข้าไปในเขตเมืองพระตะบองจริง แต่ยกไปเพียงเพื่อเก็บน้ำนมศิลามูลค้างคาวตามธรรมเนียมเท่านั้น แต่ฝ่ายเมืองพระตะบองไม่ยินยอมจึงเกิดการสู้รบขึ้น ฝ่ายเมืองพระตะบองยกทัพติดตามไปถึงบ้านพระกำเบียนหรือเกาะกำยานกวาดต้อนชาวกัมพูชากว่า 1,400 คนกลับไปพระตะบอง สมเด็จเจ้าพระยามีความผิดได้มอบตัวให้แก่ทางฝ่ายกัมพูชาไปลงโทษแล้ว ขอให้ฝ่ายกรุงเทพชำระโทษกรมการเมืองพระตะบองด้วย ฝ่ายกรุงเทพนื่งเฉยไม่ตอบแต่ประการใด[6]

อันนัมสยามยุทธ

ดูบทความหลักที่: อานัมสยามยุทธ